
กรุงเทพฯ – 8 พฤษภาคม 2567: มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น (มิตซูบิชิ มอเตอร์ส) และมิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด (MMTh) ประกาศความร่วมมือกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.)และบริษัท อรุณพลัส จำกัด (อรุณพลัส) แกนนำธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าของ ปตท. ร่วมกันศึกษาธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า xEV ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทั้งการผลิตในประเทศไทย การขายภายในประเทศ และการส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศรวมถึงบริการที่เกี่ยวข้อง โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนให้เกิดความเป็นกลางทางคาร์บอนในประเทศไทย
ด้วยประสบการณ์ และความชำนาญของ ปตท. ในฐานะผู้นำด้านธุรกิจและอุตสาหกรรมพลังงานของประเทศไทย รวมถึงแนวคิดในการพัฒนาระบบนิเวศสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า กอปรกับการที่ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส มีแผนยุทธศาสตร์มุ่งส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า มิตซูบิชิ มอเตอร์ส จึงมองเห็นโอกาสที่จะริเริ่มความร่วมมือระหว่างกลุ่มบริษัท ซึ่งรวมไปถึงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า xEVและธุรกิจบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
นายทาคาโอะ คาโตะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่สำคัญที่สุดสำหรับยุทธศาสตร์การดำเนินงานในต่างประเทศของ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส โดยกว่า 60 ปีของการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย มิตซูบิชิมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ทั้งด้านการผลิตรถยนต์ การจำหน่ายในประเทศ และการส่งออก โดยหวังว่าความร่วมมือนี้จะผลิดอกออกผลเป็นความสำเร็จที่มิตซูบิชิร่วมสร้างไปด้วยกัน เพื่อส่งเสริมประสบการณ์ที่ดี ด้วยการบริหารจัดการทรัพยากรที่บริษัททั้ง4นั้นมีพร้อมอยู่แล้ว ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของประเทศไทย และสอดคล้องกับนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน
บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เป็นศูนย์การผลิตที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาศูนย์การผลิตของ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น ทั่วโลก และยังเป็นศูนย์กลางการส่งออกรถยนต์มิตซูบิชิ ไปยังกว่า 120 ประเทศ ทั้งนี้ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย คือหนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของประเทศไทยที่มีความมุ่งมั่นในการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีคุณภาพสูง
"สำหรับความเคลื่อนไหวครั้งนี้น่าสนใจตรงที่ ค่ายมิตซูบิชิซึ่งเป็นรถยนต์ญี่ปุ่นที่ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า(BEV)เชิงพาณิชย์ออกจำหน่ายเป็นรายแรกของโลก และมิตซูบิชิในไทยเป็นหนึ่งในบริษัทญี่ปุ่นที่พยายามผลักดัน เชิงนโยบายต่อภาครัฐขอให้รัฐสนับสนุนตลาดรถยนต์ไฟฟ้าทางด้านต่างๆ อย่างไรก็ตามเมื่อเงื่อนไขภาครัฐเปิด มิตซูบิชิเหมือนค่ายญี่ปุ่นทั่วไป เช่น นิสสัน โตโยต้า ที่ไม่กระตือรื้อร้นในการทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าและทำให้ ภาพรวมอุตสาหกรรมญี่ปุ่นล้าหลังอุตสาหกรรมรถยนต์จีนในแง่ของรถพลังงานใหม่ ส่วนความร่วมมือกับปตท .เป็นเพียงการศึกษาความเป็นไปได้ในช่องทางพัฒนาธุรกิจซึ่ง ปตท.ก็แสวงหาโอกาสธุรกิจเพื่อปรับตัวให้กับกับการเปลี่ยนแปลง ในอนาคตรถอาจลดการพึ่งพาน้ำมันลง ทั้งนี้ผล กระทบจากความต้องการใช้น้ำมัน อาจไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้ ปตท.หันมาสนใจธุรกิจพลังงานใหม่และรถยนต์ไฟฟ้าแต่มองในแง่ของโอกาสธุรกิจ ถือเป็นแผนทำกำไรในอนาคตมากกว่า ปัจจุบัน ปตท.มีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศของรถยนต์พลังงานใหม่ หลายธุรกิจซึ่งถือว่าเป็นการปรับตัวอย่างเป็นรูปธรรมและรวดเร็วของปตท."