
รถกระบะไฟฟ้า TOYOTA Hilux BEV ถูกพัฒนาขึ้นและทดลองใช้งานในประเทศไทย เน้นไปที่รองรับการขนส่ง ทั้งเรื่องของสินค้าที่หลากหลาย และการขนคนในรูปแบบของรถโดยสาร อุปสรรคสำคัญของรถกระบะไฟฟ้า ก็คือ น้ำหนักตัวรถต่อแบตเตอรี่ที่มีผลต่อระยะทาง ยิ่งรถหนัก ระยะทางการใช้งานยิ่งลดลง มันเป็นธรรมชาติของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า อยากให้รถวิ่งได้ไกลขึ้น แบตเตอรี่ต้องมีความจุมากขึ้น แต่น้ำหนักก็จะมากขึ้นด้วย ยิ่งแบตเตอรี่ยิ่งมีประสิทธิภาพสูงราคาของแบตเตอรี่ก็ยิ่งสูงขึ้น หรือจะใช้มอเตอร์ที่มีการกินไฟน้อย แต่ก็ต้องเป็นมเตอร์ที่มีกำลังขับเคลื่อนได้ดี ซึ่งโจทย์มันยากกว่ารถยนต์นั่งปกติ ปัจจุบันก็ยังไม่มีรถกระบะไฟฟ้าของจีนที่ถือเป็นชาติที่โดดเด่นมาเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าออกมาทำตลาดรถกระบะไฟฟ้าอย่างจริงๆ มีเพียงฝั่งอเมริกามีว่างจำหน่ายในหลายค่าย และญี่ปุ่นที่กำลังพัฒนา หนึ่งในนั้นคือ TOYOTA ค่ายรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นเจ้าแรกที่ได้นำรถกระบะไฟฟ้า HILUX BEV ออกมาให้สื่อมวลชนในไทย และออสเตรเลียได้ทดลองขับอย่างเป็นทางการ
ประเทศไทย เป็นประเทศที่มีอัตราการใช้รถปิกอัพขนาดกลางมากที่สุดในโลก และโตโยต้ามียอดจำหน่ายสูงถึงประมาณ 145,000 คันในปี 2022 หนึ่งในตลาดที่สร้างยอดขายในไทยให้กับโตโยต้าก็คือ ตลาดรถกระบะเพื่อการพาณิชย์ตอนเดียว การแก้โจทย์การใช้งานของรถกระบะไฟฟ้า จึงเหมาะสมที่จะใช้ไทยเป็นพื้นที่ในการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นลักษณะการใช้งาน สภาพถนน สภาพภูมิอากาศที่ร้อน ฝนตกหนัก สภาพการจราจร และพฤติกรรมการใช้งานรถยนต์ของคนไทย ลักษณะการใช้งานรถกระบะของคนไทย เป็นโจทย์ยากสำหรับการพัฒนารถกระบะไฟฟ้ามากๆ เพราะคนไทย ต้องการรถกระบะที่ช่วงล่างทนทานรองรับการบรรทุกได้ดีมากๆ ต้องการรถที่วิ่งได้ไกล ระบบส่งกำลังที่ดี แรงบิดสูง ทั้งหมดที่กล่าวมา ต้องอยู่ในราคาจำหน่ายที่ซื้อหาได้ง่าย รถกระบะไฟฟ้าเพื่อรองรับการขนส่งจึงดูเหมาะสมกับผู้ประกอบการณ์ที่มีระยะทางการขนส่งชัดเจน มีพิกัดการบรรทุกในแต่ละวันไม่ต่างกันมากนัก เพราะยังมีข้อจำกัดเรื่องขนาดแบตเตอรี่ และพื้นที่การติดตั้งในรถปิกอัพ ตรงนี้โตโยต้าดูจะคิดถูกที่เลือกพัฒนารถกระบะไฟฟ้าในไทย ถ้าค่ายรถแก้โจทย์การใช้งานรถกระบะไฟฟ้าที่มีข้อจำกัดให้คนไทยสามารถใช้งานรถกระบะไฟฟ้าให้เหมาะสมได้ โอกาสที่มันจะคุ้มค่ากับการทำตลาดจำหน่ายก็มีสูง
สำหรับรถกระบะไฟฟ้า Hilux BEV ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนา โดยใช้พื้นฐานของ Toyota Hilux Revo นำมาติดตั้งแบตเตอรี่ที่แชสซีตรงกลางตัวรถพร้อมการ์ดรองรับเพื่อความแข็งแกร่ง และติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้าไว้ที่เฟืองท้าย พร้อมออกแบบชุดคานรับแรงเพื่อให้รถเกิดความสมดุล ภายในติดตั้งพวงมาลัยไฟฟ้า และออกแบบคอลโซลกลางใหม่เพื่อติดตั้งชุดสวิตซ์ขับเคลื่อนไฟฟ้าซึ่งยกมาจาก bZ4x และชุดควบคุมเบรกมือไฟฟ้า สื่อฝั่งออสเตรเลียที่ได้ทดลองขับไปไม่นานนี้ คาดว่ามันมีระยะทางขับเคลื่อนต่อการชาร์จหนึ่งครั้งประมาณ 200 กิโลเมตร
สำหรับในไทย จากที่เคยสอบถามทางโตโยต้า ทางโตโยต้ามีแผนจะแนะนำ Toyota Hilux BEV ในช่วงปลายปีนี้ แต่ ณ ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมใดใด